การปลูกผมมีกี่แบบและแบบไหนกำลังเป็นที่นิยม

การปลูกผม

การปลูกผม เป็นหนึ่งในการทำศัลยกรรมผิวหนังเพื่อที่จะแก้ไขให้กับผู้ที่มีปัญหาศีรษะล้าน ส่วนใหญ่แล้วจะนำเอาผมของตัวผู้เข้ารับการรักษามาใช้ในการปลูกผม สำหรับการปลูกผมนั้นจะต้องทำภายในสถานพยาบาลหรือคลินิกเสริมความงาม และใช้ยาชาเฉพาะที่ในขณะที่กำลังทำการปลูกผม ซึ่งวิธีในการปลูกผมนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ การปลูกผมแบบตัดหนังศีรษะ และการปลูกผมแบบไม่ผ่าตัด ซึ่งวันนี้เราจะมานำเสนอวิธีการปลูกผมที่นิยมใช้กันว่าเป็นแบบใด

ประเภทของการปลูกผมแบ่งเป็นกี่แบบ

การปลูกผมแบบตัดหนังศีรษะ (Follicular Unit Strip Surgery: FUSS) วิธีนี้ที่นำหนังศีรษะบริเวณที่มีผมขึ้นมาเย็บติดกับหนังศีรษะบริเวณที่ไม่มีผม ซึ่งจะเป็นบริเวณท้ายทอยที่ได้ทำการผ่าตัดเอาหนังศีรษะออกมาจะถูกเย็บปิดแผลและกลายเป็นแผลเป็นต่อไป

การปลูกผมแบบไม่ผ่าตัด (Follicular Unit Extraction: FUE) สำหรับวิธีนี้จะนำเอากอผมจากบริเวณหนังศีรษะของผู้เข้ารับบริการฝังลงบนหนังศีรษะ โดยวิธีนี้จะแบ่งออกเป็นอีก 2 ประเภทย่อย ๆ ได้แก่

  • การปลูกโดยใช้รากผมในปริมาณที่มาก (Slit Grafts) เป็นการใช้รากผม 4-10 รากต่อหลุมผมในแต่ละหลุม
  • การปลูกโดยใช้ปริมาณผมน้อย (Micro-Grafts) วิธีนี้จะใช้รากผมเพียง 1-2 รากต่อหลุมผมในแต่ละหลุม

ปลูกผมแบบไหนกำลังเป็นที่นิยม

การปลูกผมในยุคนี้วิธีที่วงการแพทย์นิยมใช้มากที่สุดคือวิธีปลูกผมแบบ FUE เป็นที่นิยมมากในปัจจุบันเพราะแผลเป็นจากการปลูกผมมีขนาดเล็ก (~0.8 มม.) และระยะพักฟื้นสั้น นั่นเป็นเพราะว่าการปลูกผมวิธีนี้เป็นการนำรากกอผมออกมาทีละกอ ขนาดของแผลจึงใกล้เคียงกับขนาดของกอรากผม การปลูกผมด้วยวิธีนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้หลายประเภท เช่น ผมบาง/ล้าน คิ้วบาง หนวด/เคราบาง หรือแม้กระทั้งช่วยในการปกปิดแผลเป็น

ก่อนปลูกผมต้องรู้อะไรบ้าง

ก่อนที่จะตัดสินใจเข้ารับบริการแก้ไขเรื่องปัญหาเส้นผมไม่ว่าจะเป็นผมบาง ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ  หัวล้านก่อนวัย หัวล้านจากกรรมพันธุ์ ผู้เข้ารับบริการต้องมีการสังเกตตัวเองมาก่อนว่าปัญหาผมของแต่ละคนมีมากน้อยขนาดไหน เพราะในความเป็นจริงแล้วหัวล้านหรือศีรษะล้านของคนเราแบ่งออกเป็นหลากหลายรูปแบบ สำหรับหนุ่ม ๆ ที่ศีรษะล้านจากพันธุกรรม ก็จะมีเกณฑ์การวัดอยู่ ซึ่งเกณฑ์ที่นิยมใช้คือ Hamilton-Norwood Scale ซึ่งจะไล่ตามลำดับความล้านเป็น 7 ลำดับ และส่วนสาวๆ ที่มีอาการศีรษะบางหรือล้านก็มีเกณฑ์การวัดเหมือนกัน เรียกว่า Ludwig Scale และไม่ว่าศีรษะของผู้เข้ารับบริการจะล้านระดับไหน ก่อนจะทำการปลูกผมถาวรทุกครั้งแพทย์จะต้องมีการประเมินสัดส่วนของใบหน้าโดยการวัดกราฟท์แบบเคสต่อเคส

เมื่อทำการประเมินกราฟท์เสร็จแพทย์ก็ต้องมาทำการพูดคุยตกลงเรื่องจำนวนกราฟท์ที่จะปลูกรวมถึงความสูงต่ำของแนวผมกับผู้เข้ารับบริการ ส่วนจะปลูกได้ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและความคาดหวังของผู้เข้ารับบริการ ถึงแม้ว่าผู้เข้ารับบริการจะศีรษะจะล้านมาก แต่ถ้าต้องการการปกปิดเพียงเล็กน้อย แล้วผมมีเพียงพอกับความต้องการนั้นก็สามารถปลูกได้

ใครควรเข้ารับบริการปลูกผม

  • เหมาะสำหรับผู้ที่มีหน้าผากกว้างหน้าผากสูงแต่กำเนิด
  • เหมาะสำหรับผู้ที่มีหนังศีรษะล้าน หรือผมบางมากประเภทมีแต่เส้นขนฝอย ๆ
  • เหมาะสำหรับผู้ที่เกิดอุบัติเหตุ เช่น แผลไฟไหม้ หรือแผลติดเชื้อ
  • เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผลและต้องการที่จะซ่อนแผลที่เกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัดยกหน้ายกคิ้ว หรือเส้นผมบริเวณจอนหายไปจากการผ่าตัดยกใบหน้า

เริ่มต้นการปลูกผมไว สามารถแก้ปัญหาได้เร็วจริงหรือ

สำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง และหนังศีรษะล้านคุณไม่ต้องรอให้เกิดเป็นปัญหาที่เกิดรุนแรงก็สามารถปลูกผมได้เลย หากรู้สึกว่าปัญหาเรื่องผมเริ่มส่งผลกระทบกับตัวเองแล้ว สามารถเริ่มปรึกษาแพทย์เพื่อรับการแก้ปัญหาได้ทันที ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าคนไข้เหมาะสมจะปลูกผมแล้วหรือยัง หรือถ้าจะปลูกผมต้องใช้วิธีใดจึงจะได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ยิ่งรักษาไวก็ยิ่งแก้ปัญหาได้ไว และกลับมามีความมั่นใจได้อีกครั้งอย่างที่คุณต้องการ

เตรียมตัวอย่างไรเมื่อต้องเข้ารับการปลูกผม

  • ก่อนเข้ารับบริการอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ผู้เข้ารับบริการต้องงดสูบบุหรี่ และหลังจากการปลูกผมอย่างน้อย 1 เดือน เนื่องจากการสูบบุหรี่จะไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังผิวหนัง และทำให้แผลจากการปลูกผมหายช้าลง
  • ผู้เข้ารับบริการต้องหยุดรับประทานยาจำพวกวิตามินหรือยารักษาอาการบางชนิด เพราะยาอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาได้
  • ในวันที่จะทำการปลูกผมผู้เข้ารับบริการควรสระผมให้สะอาดและหลีกเลี่ยงการจัดแต่งทรงผมตั้งแต่ตอนเช้า และเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมทุกชนิด บางครั้งศัลยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้เข้ารับการปลูกผมงดการตัดผมอย่างน้อย 1 เดือนก่อนเริ่มทำการปลูกผมเพื่อให้ผมส่วนอื่นยาวพอที่จะนำมาปิดส่วนที่ปลูกผมได้

ดูแลตัวเองอย่างไรหลังทำการปลูกผม

เมื่อทำการปลูกผมเรียบร้อย หนังศีรษะของผู้เข้ารับการปลูกผมอาจมีอาการบวมอย่างมาก และอาจต้องใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดจนกว่าจะทุเลาลง ศัลยแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการปลูกผมปิดผ้าพันแผลที่บริเวณหนังศีรษะอย่างน้อย 1-2 วัน นอกจากนี้แพทย์อาจมีการสั่งให้ใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านอาการอักเสบต่อเนื่องหลายวัน ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เข้ารับการปลูกผมจะสามารถกลับไปทำงานได้ภายใน 2-5 วัน

หลังทำการปลูกผมผ่านไปประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ ผมที่รับการปลูกถ่ายมาจะเริ่มร่วง ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะผมเส้นใหม่จะเริ่มขึ้นภายในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา โดย 60% ของผู้ที่เข้ารับการปลูกผมนั้นพบว่าเส้นผมใหม่จะใช้เวลาขึ้นประมาณ 6-9 เดือน ศัลยแพทย์บางท่านอาจสั่งให้ผู้เข้ารับบริการใช้ยาเร่งผมยาวร่วมด้วยเพื่อช่วยให้ผมขึ้นหลังจากการปลูกผม แต่ก็ยังไม่มีผลแน่ชัดว่าวิธีนี้จะช่วยได้จริงหรือไม่

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังจากทำการปลูกผม

  • ผู้เข้ารับบริการปลูกผมอาจมีเลือดออกมากผิดปกติ
  • หนังศีรษะของผู้เข้ารับบริการอาจเกิดการติดเชื้อได้
  • หนังศีรษะอาจบวมได้
  • ผู้เข้ารับบริการอาจมีรอยช้ำบริเวณรอบดวงตา
  • ผู้เข้ารับบริการอาจมีแผลตกสะเก็ดหรือน้ำเหลืองที่บริเวณหนังศีรษะที่ทำการปลูกผม หรือบริเวณที่ผมถูกย้ายไปปลูกที่อื่น
  • ผู้เข้ารับบริการอาจมีอาการชาหรือไม่มีความรู้สึกบริเวณหนังศีรษะที่ทำการปลูกผม
  • อาจจะทำให้เกิดอาการคันได้
  • อาจเกิดแผลเป็นบนหนังศีรษะจากการปลูกผม
  • ผู้เข้ารับบริการอาจเกิดอาการอักเสบหรือการติดเชื้อที่ต่อมขุมขนได้