แผลเป็นนูนหรือคีลอยด์เป็นแผลเป็นที่เกิดขึ้นหลังจากที่แผลหายดีแล้วไปสักพักหนึ่ง โดยอาจจะมีขนาดที่ขยายใหญ่กว่ารอยแผลเป็นเดิมที่เกิดขึ้นและจะมีสีที่แตกต่างกันตามสภาพสีผิวของแต่ละบุคคล ลักษณะของแผลเป็นนูนจะมีลักษณะแข็งคล้ายยางเป็นมันเงาและไม่มีขนขึ้นไม่ก่อนให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด แต่ก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บ คัน ระคายเคือง อีกทั้งยังส่งผลทางด้านความสวยความงามอีกด้วย จึงต้องหาวิธีรักษาแผลเป็นนูน ซึ่งปัจจุบันนี้จะมีสถานบริการพยาบาลที่ทำการรักษาที่ผู้เข้ารับบริการจะต้องเลือกที่มีคุณภาพได้มาตรฐานก่อนที่จะเข้ารับบริการ
แผลเป็นนูนหรือคีลอยด์เกิดจากอะไร
จริง ๆ ก็ยังไม่ทราบสาเหตุของแผลเป็นคีลอยด์ที่แน่ชัด แต่พบว่ามักจะเกิดในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม ในตำแหน่งที่เกิดได้บ่อย ได้แก่ หัวไหล่ ติ่งหูและกลางหน้าอก ส่วนหนึ่งพบในผู้ป่วยที่มีประวัติทางพันธุกรรม คือ มีประวัติการเกิดคีลอยด์ในพ่อหรือแม่ แผลเป็นคีลอยด์นี้เชื่อว่าเกิดจากการที่แผลเป็นมีการสร้างสารที่เรียกว่าคอลลาเจนมากเกินกว่าปกติ
ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลคีลอยด์ ?
- เชื้อชาติ แผลคีลอยด์พบในคนผิวสีมากกว่าคนผิวขาว
- ประวัติทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นแผลคีลอยด์ได้ง่าย หรือบางคน เกิดแผลคีลอยด์ตั้งแต่วัยเด็ก จะมีแนวโน้มการเกิดแผลคีลอยด์ง่ายในอนาคต ควรระวังเป็นพิเศษ
- ตำแหน่งที่เป็นแผล บริเวณผิวหนังที่มีการตึงรั้งเยอะ มีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์มากขึ้น เช่น บริเวณหัวไหล่, หน้าอกและหลังส่วนบน จากการบีบสิว และอีกตำแหน่งที่พบได้บ่อยคือ ใบหู ตั้งแต่ติ่งหูจนถึงกระดูกอ่อนของใบหู จากการเจาะหูเพื่อความสวยงาม
วิธีการรักษาแผลเป็นนูนมีแบบใดบ้าง
แผลเป็นนูนชนิดคีลอยด์ มักโตขึ้นหลังการเย็บแผลนานหลายเดือนและมักขยายขนาดหรือลามออกจากแผลเดิมมาก มีวิธีรักษาดังนี้
- การฉีดยาเข้าไปในแผล วิธีนี้เป็นการรักษาแบบมาตรฐานเบื้องต้น ยาที่ใช้ ได้แก่ สเตียรอยด์ และยาต้านการเจริญของพังผืด
- การรักษาเสริม วิธีนี้ทำเพื่อช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น และทำให้สี หรือพื้นผิวของแผลดีขึ้น เช่น การทายา การปิดแผลด้วยซิลิโคน การพ่นเย็น และการทำเลเชอร์
- การผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับรูปแบบของแผลเป็นนั้น ถ้าเป็นกรณีที่เกิดเป็นแผลเป็นนูนเกินหรือคีลอยด์ เราก็อาจจะใช้วิธีตัดออก หรือว่าลดขนาดลงบางส่วน วิธีนี้อาจจะใช้ร่วมกับการรักษาโดยวิธีอื่น เช่น การฉีดยา หรือการปิดด้วยแผ่นซิลิโคนก็ได้ การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธี อาจจะใช้วิธีตัดออกโดยตรงแล้วเย็บปิดเป็นเส้นตรง หรืออาจจะตัดออกเป็นรูปซิกแซก เพื่อที่จะให้แผลเป็นที่เกิดขึ้นใหม่มีลักษณะใกล้เคียงกับรอยย่นตามผิวหนัง
การผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งคือการลดขนาดของแผลเป็น วิธีนี้เราจะใช้วิธีการตัดแผลเป็นออกบ้างบางส่วน โดยจะไม่ตัดออกทั้งหมด หลังจากนั้นจะนัดผู้ป่วยมาเพื่อติดตามผลการรักษา หากแผลเป็นมีขนาดเล็กลงอาจจะนัดมาตัดซ้ำอีกครั้ง เรียกว่าการตัดแบบทีละน้อย หรือ serial excision วิธีการผ่าตัดอีกวิธีหนึ่งคือการใช้วิธีขัดกรอผิวหนัง หรือว่า dermabrasion การขัดกรอผิวหนังนี้จะใช้ในกรณีที่มีแผลเป็นที่รอยขรุขระหรือไม่เรียบหรือเป็นรอยบุ๋ม แผลเป็นนี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากสิวอักเสบหรือโรคสุกใส การใช้หัวกรอหรือใช้แสงเลเซอร์ยิงบริเวณที่รอยขรุขระนี้ เพื่อจะปรับสภาพผิวให้ราบเรียบขึ้น แต่ข้อควรระวังคืออาจจะเกิดมีการเกิดผิวสีเข้มหรือ hyperpigmentation บริเวณนั้นได้
การป้องกันแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ทำได้หรือไม่
ในผู้ที่สังเกตตนเองว่ามีแนวโน้มจะเกิดแผลเป็นขึ้นหลังจากแผลหาย ควรหลีกเลี่ยงการสัก เจาะตามร่างกาย หรือการผ่าตัดศัลยกรรมใด ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นจริง ๆ เพราะทั้งหมดนี้ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดคีลอยด์ตามมาได้ นอกจากนี้ หากเกิดแผลใด ๆ ขึ้นตามร่างกาย ควรรีบรักษาทันที เพื่อให้แผลนั้นหายเร็วขึ้นและมีโอกาสเกิดแผลเป็นน้อยลง
ขั้นตอนการรักษาแผลเพื่อช่วยป้องกันการเกิดคีลอยด์ ทำได้ดังนี้
- ปิดแผลไว้เมื่อเกิดแผล โดยใช้วาสลีนทา ตามด้วยผ้าพันแผลปิดทับอีกที จากนั้นใช้เทปแปะยึดผ้าพันแผลหรือผ้าก๊อซไว้ให้เกิดแรงกดบนแผล และไม่ลืมล้างทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำและสบู่ทุก ๆ วัน กรณีที่มีการเจาะหู ให้ใช้แผ่นแปะสำหรับติ่งหูเพื่อกดไว้ไม่ให้แผลเป็นเติบโตขึ้นมา
- ใช้แผ่นเจลซิลิโคนแปะหลังจากแผลหายดีแล้ว เพื่อกดบริเวณดังกล่าวไว้ ป้องกันแผลเป็นเจริญเติบโตขึ้นมา โดยทำทุกวัน วันละ 12-24 ชั่วโมงต่อวัน เป็นระยะเวลา 2-3 เดือน ทั้งนี้เนื่องจากการเกิดแผลเป็นคีลอยด์นั้นใช้เวลาประมาณ 3 เดือน
- ปกป้องบริเวณที่เกิดแผลจากแสงแดด เมื่อต้องเผชิญแสงแดดอาจป้องกันแผลด้วยผ้าพันแผล พลาสเตอร์ หรือทาครีมกันแดด ทำเช่นนี้เป็นเวลา 6 เดือนหลังจากการเกิดแผลหรือการเข้ารับผ่าตัด หากเป็นเด็กควรแปะไว้เป็นเวลานานถึง 18 เดือน นอกจากนี้ อาจใช้ครีมอิมิควิโมดทาหลังการผ่าตัดใด ๆ เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นขึ้นหรือลดโอกาสการเกิดคีลอยด์ขึ้นใหม่หลังการผ่าตัดออกไปแล้ว