ท่านเคยมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ เช่น รู้สึกปวดคอ คอแข็ง ปวดร้าวลงมาที่มือ หรือปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดร้าวลงมาที่แขน หรือขาข้างใดข้างหนึ่ง จนรู้สึกชา ไม่มีแรง ขยับตัวลำบาก ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณบอกถึงโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคอ และหากท่านมีอาการดังกล่าวแล้วปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน อาจทำให้การรักษาด้วยยาหรือกายภาพบำบัดนั้นไม่ได้ผลดีนัก และจำเป็นต้องใช้วิธีการผ่าตัดช่วยในการรักษาแทน ซึ่งโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนี้เกิดจากเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นกระดูกในร่างกายอาจมีการผุและเสื่อมไปตามกาลเวลา ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการเกิดโรคต่าง ๆ นั่นเอง
สาเหตุของการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคอมีอะไรบ้าง
โรคนี้จะเกิดจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นหมอนรองกระดูกเสื่อมมาทับบริเวณเส้นประสาท หรือเมื่ออายุมากขึ้นมีการงอกของกระดูกคอ และอาจมากดทับบริเวณรากประสาทได้ ทำให้มีอาการปวดคอ คอแข็ง และปวดร้าวลงมาที่มือ หรือปวดบ่า ปวดไหล่ และปวดร้าวลงมาที่แขน ในบางรายอาจมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น หมอนรองกระดูกยื่นออกมากดทับประสาทไขสันหลังจนทำให้รู้สึกว่ากล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง ชาตามแขนขาได้
ปวดคอแบบไหนบ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้กระดูกคอเสื่อมได้และการใช้งานคอผิดท่าเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคกระดูกคอเสื่อมในช่วงอายุที่น้อยลงมากขึ้น โดยมีอาการเริ่มแรกคือปวดตึงต้นคอหรือปวดคอร้าวไปที่สะบัก ปวดร้าวลงไปที่แขนข้างใดข้างหนึ่ง ปวดที่ข้อไหล่และมีอาการไหล่ติดโดยกระดูกคอเสื่อม แบ่งออกเป็น 3 ระดับอาการดังนี้
- กระดูกคอเสื่อมที่ไม่กดทับเส้นประสาทและไขสันหลัง จะมีอาการปวดเมื่อยต้นคอ บ่า ไหล่
- กระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทคอ จะปวดตามแนวเส้นประสาท ชา อ่อนแรงบริเวณกล้ามเนื้อต้นแขนหรือมือ รวมทั้งปวดร้าวจากคอลงไปที่แขน
- กระดูกคอเสื่อมกดทับไขสันหลัง จะมีอาการเกร็งบริเวณลำตัวตัว แขนและขา การทรงตัวไม่ดี ก้าวสั้น ใช้งานมือได้ไม่ถนัด
อาการของโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
การกดทับเส้นประสาทนั้นมักทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงและลามลงมาตามแขนหรือนิ้วมือด้วย หากการกดทับรุนแรง หรือปล่อยทิ้งไว้นานก็จะทำให้เกิดอาการชาและอ่อนแรงของแขนในที่สุด
โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทอันตรายไหม
โรคนี้ในตอนต้นผู้ป่วยจะมีความเจ็บปวดรุนแรง และคนไข้ส่วนมากมักจะบอกว่าเป็นอาการเจ็บที่สุดที่เคยเจอมาในชีวิตเลย แต่อาการเจ็บรุนแรงนี้มักจะหายไปได้เองหากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โอกาสที่จะเกิดอาการอัมพาตพบได้น้อยมาก ยกเว้นมีการกดทับของไขสันหลังร่วมด้วย หากมีอาการแล้วรีบมาพบแพทย์จะดีที่สุด
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทต้องทำอย่างไร
สำหรับการรักษาในเบื้องต้นนั้นแพทย์จะให้ยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยระงับอาการปวด หรืออาจมีการใช้วิธีการประคบร้อนร่วมกับการทำอัลตร้าซาวน์จะช่วยในการลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวันในช่วงแรกที่มีอาการปวด โดยงดเว้นการยกของหนัก ไม่ยกของเหนือระดับหัวไหล่ หรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีผลทำให้เกิดการกระแทก, นอนที่นอนไม่อ่อนนุ่มหรือแข็งเกินไป, ถ้านอนตะแคงควรนอนระวังไม่ให้ลำตัวบิด และถ้านอนหงายควรมีหมอนรองใต้ข้อเข่าให้งอเล็กน้อยไม่เหยียดตรงจนเกินไป และใส่สายรัดพยุงหลังเพื่อช่วยในการประคอง เป็นต้น
หากยังไม่ดีขึ้นแพทย์จะค่อยพิจารณาการผ่าตัดในลำดับต่อไป ซึ่งการผ่าตัดรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณหลังนั้น มีอยู่ 3 วิธีหลัก ๆ คือ วิธีแรก การผ่าตัดผ่านช่องกระดูกสันหลังเพื่อนำเอาหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออก ปัจจุบันได้มีการรักษาโดยการใช้กล้องผ่าตัด เรียกว่า Microdiscectomy เป็นการผ่าตัดเช่นเดียวกับการทำผ่าตัดเปิดเอาหมอนรองกระดูกสันหลังออกแบบเดิมที่เรียกว่า Standard open discectomy แตกต่างที่แผลขนาดเล็กลงกว่า ลดระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาล, วิธีที่ 2 คือ การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมที่ระดับหลัง วิธีนี้จะเหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาหมอนรองกระดูกเสื่อม และวิธีที่ 3 การผ่าตัดโดยวิธีการผ่านกล้องขนาดเล็ก (Endoscope) เป็นการผ่าตัดขนาดเล็กเพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้น เหมาะสำหรับคนไข้ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกแตกหรือปูดมากดทับเส้นประสาทนั่นเอง
การดูแลตัวเองหลังจากรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท
เมื่อได้ทำการรักษาอาการแล้ว สำหรับการดูแลตัวเองหลังการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น แต่ละกลุ่มก็จะมีวิธีการดูแลตัวเองที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในคนไข้ที่เป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคอนั้น จะต้องดูแลตัวเองด้วยวิธีปรับการใช้ชีวิตประจำวันใหม่ ไม่ว่าจะเป็น หากต้องนั่งนาน ๆ ควรปรับท่านั่งให้หลังตรงหรือเดินตัวตรง อย่านั่งนานเกินไป ควรลุกขึ้นยืน หรือปรับเปลี่ยนอากัปกิริยา ทุก ๆ ชั่วโมงเพื่อลดอาการปวดคอ คอแข็ง หลีกเลี่ยงการบิดหมุนคอหรือสะบัดคอบ่อย ๆ , การนอนควรใช้หมอนหนุนศีรษะโดยมีส่วนรองรับใต้คอให้กระดูกคออยู่ในลักษณะปกติ, บริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการทำงานโดยแหงนคอเป็นเวลานาน ๆ บ่อย ๆ เป็นต้น